นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ทองไม่ใช่โลหะเกิดจากโลกใบนี้ แต่หลายร้อยล้านปีก่อน
ดวงดาวโคจรผิดวิถีพุ่งชนกัน เกิดระเบิดสะเก็ดกระจายและล่วงหล่นบนพื้นโลก ด้วยความเร็วและแรงสะเก็ดเหล่านั้นจมลึกภายใต้ผิวดิน หรือด้วยระยะเวลาที่ไม่ได้รับความสนใจในตอนต้น เกิดการทับถมของซากพืช ซากสัตว์ ทำให้โลหะชนิดนี้ถูกฝังจมดิน
หรืออีกกรณี หลายร้อยล้านปีก่อนหน้า เกิดอุกาบาตพุ่งชนโลก ปฏิกิริยานั้นทำให้ทองคำเกิดขึ้นในโลก
หลักฐานสืบค้นทำให้รู้ว่า มวลมนุษยชาติรู้จักทองคำ ตั้งแต่ประมาณ 5,000 กว่าปีแล้วลักษณะและคุณสมบัติของโลหะชนิดนี้คือ สีเหลืองสดใสแวววาว
รูปทรงจากการขุดค้นก่อนนำมาแปรจะพบตั้งแต่เม็ดกลม เกล็ดเล็กๆ แผ่นบาง แผ่นหนา ถึงรูปทรงก้อนที่ไม่เป็นระเบียบ รูปทรงหยักมีคม และรูปทรงคล้ายกิ่งก้านไม้ผุกร่อน
ไม่ว่าจะค้นพบรูปทรงใด ทองคำจะคงทน ต่อต้านปฏิกิริยาแวดล้อม อุณหภูมิอากาศ ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่สามารถทำให้ทองคำหมองคล้ำหรือเกิดสนิมต่อให้หมกตัวอยู่ในดินลึก หรือถูกทิ้งไว้ในบ่อน้ำ ทะเล และมหาสมุทร ยาวนานสักกี่สิบกี่ร้อยปี ทองคำยังคงรูปดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สามารถค้นพบทองคำได้โดยสกัดจากหินแร่ หินอัคนี หินแปร และหินชั้น กับอีกทางหนึ่งจากสายแร่ทองคำ ที่น้ำพัดผ่านสายทางแร่ทองคำ ความแรงของน้ำ สามารถสกัดทองคำออกจากหิน และถูกพัดผ่านตามเส้นทางน้ำนั้น
ทองคำ คือโลหะคงตัว เทียบกับน้ำ โมเลกุลไม่คงที่ รูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงตามภาชนะที่ใช้ในการบรรจุ แต่ทองคำไม่ใช่ นี่คือความหมายของคำว่า “โลหะคงตัว” กระนั้นก็อ่อนนุ่ม สามารถนำมาแปรรูปขึ้นรูปทรงต่างๆ ตามความต้องการ ทั้งทองรูปพรรณ และทองแท่ง
ทองคำในโลกมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 190,000 ตัน หรือเปรียบเทียบให้ได้เห็นภาพเท่ากับรถกระบะ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณหนึ่งตัน นำมาจอดเรียงต่อ ๆ กัน 190,000 คัน หรือสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งนั่นเอง
สำคัญ ไม่ว่าโลกร้อน น้ำท่วม หรือเกิดสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์อย่างใดๆ โลหะสีทองชนิดนี้จะไม่มีวันหายออกจากโลก แม้แต่นิดเดียวก็ไม่มี แล้วยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มีเสื่อมสภาพ
ด้วยเหตุนี้ มวลมนุษยชาติถึงได้ให้การยอมรับ “ทองคำ” โดยให้ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ใช้วัดสถานะการเงิน สถานะเงินทุนของประเทศ และยังเป็นเครื่องประดับ หลักทรัพย์สำหรับการลงทุน และส่วนประกอบด้านทันตกรรม รวมทั้งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสามารถเหนียวนำกระแสไฟฟ้า และไม่เป็นสนิม
เหตุผลความนิยมทองคำ แม้ปริมาณทองคำเหมือนไม่ได้มากมากนัก แต่ทุกคนแทบทุกชนชั้นในโลกใบนี้ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าถึงและครอบครอง มากหรือน้อยตามกำลัง และความต้องการของตน
ปัจจุบัน ทองคำอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity ซึ่งได้แก่สินค้า ผลิตผล วัตถุดิบ หรือ “สินทรัพย์” ที่ก่อเกิดตามธรรมชาติ เป็นทรัพยากรของโลก หรือขุดค้นได้ในแทบทุกพื้นที่ เรียกว่ามาตรฐานระดับเดียวกันทุกแห่ง โดยราคาจะขึ้นกับความต้องการของตลาด ถ้าสินค้าผลิตผลนี้มีปริมาณน้อย ราคาจะสูงขึ้น แต่ถ้าช่วงใดสินค้าถูกผลิตและถูกค้นพบออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ความต้องการลดลง และราคาก็จะถูกลงตามด้วย
ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก หมายความว่า ถ้าแพงก็จะแพงเหมือนกันทั่วโลก ถ้าถูกก็จะถูกทุกที่ทุกแห่ง อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย จากการขนส่งและภาษีของแต่ละประเทศ
ประการสำคัญ ผู้ผลิตกำหนดราคาตามต้นทุน หรือตามความต้องการตนเองไม่ได้
สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงอีกชั้นหนึ่ง สินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากทองคำแล้ว ก็จะมีสินค้าทางการเกษตร และน้ำมัน
เหตุผลทั้งหมดนี้ ดังกล่าวข้างต้น “ทองคำ” ถูกกำหนดเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ถูกใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ทองคำยังเป็นที่นิยมเพื่อใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการลงทุนรูปแบบต่างๆ กระทั่งทุกวันนี้ ไม่ต่างกับเส้นเลือดใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก