“สินสอด” สันนิษฐานว่าเกิดจากการสมาสสนธิ คำว่า “ทรัพย์สิน” และ “สอดใส่” หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ชายมอบให้กับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหญิงผู้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งพ่อแม่ เพื่อขอบคุณและตอบแทนที่เลี้ยงดูหญิงนั้นมาเป็นคู่ตน หรือเรียกกันว่าเป็น “ค่าน้ำนม” สำหรับมารดาบิดา หรือผู้เลี้ยงดูเสมือนพ่อแม่หญิงนั้น โดย สินสอด ทองหมั้น สอดใส่พานส่งมอบแก่บุคคลนั้น
ทั้งนี้ ถ้าหญิงและชายเห็นพ้อง การสู่ขอ หมั้นหมายและแต่งงาน ไม่ต้องมี “สินสอด” ก็ได้
ส่วน “ทองหมั้น” ก็คือของหมั้น ชายให้กับหญิงเพื่อยืนยันว่าจะแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
ตามประเพณีปฏิบัติ สินสอดและทองหมั้น จำนวนเงินมักใช้เป็นเลขคู่ เช่น เงินสด 2 แสนบาท เงินสด 2 ล้านบาท ทองคำ 6 บาท หรือทองคำ 20 บาท ไม่นิยมใช้จำนวนเลขคี่ เพราะเป็นเรื่องของชีวิตคู่
ดังนั้น “สินสอด” คือเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ชายมอบให้กับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหญิง
ส่วน “ทองหมั้น” คือทรัพย์สินชายมอบกับหญิงเพื่อยืนยัน หรือนัยหนึ่ง “จอง” หญิงนั้น
สำหรับประเทศไทย ประเพณีนี้ถือปฏิบัติกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้า ปัจจุบันบัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว มาตรา 1437
“การหมั้นจะสมบูรณ์ เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”
เมื่อทั้ง “สินสอด” ของหมั้น หรือ “ทองหมั้น” เกิดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์หลัก คือ
การสมรสระหว่างหญิงกับชาย กรณีนี้นั้น ตามกฎหมายยึดถือการจดทะเบียนสมรส หรือได้ใช้ชีวิตคู่อย่างเปิดเผยฉันท์สามีภรรยา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดพิธีแต่งงานตามประเพณี
หมายความว่า ถ้าชายจัด “สินสอด” กับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเสมือนพ่อแม่ของหญิง และมอบ “ของหมั้น” กับหญิงแล้ว และจัดพิธีแต่งงานใหญ่โต เชื้อเชิญแขกเหรื่อเป็นสักขีพยานจำนวนมาก แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือใช้ชีวิตคู่เฉกเช่นสามีภรรยาพึงปฏิบัติ
เท่ากับทรัพย์สิน ที่ได้ให้และอ้างว่า คือ “สินสอด” และ “ทองหมั้น” นั้น ไม่ได้ให้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการแต่งงานอย่างสมบูรณ์แบบ ทรัพย์สินนี้ถือเป็นการ “ให้โดยเสน่หา” เท่านั้น
หรือนัยหนึ่ง สินสอด ทองหมั้น เปรียบเหมือน “สัญญา” ฉบับหนึ่ง ระหว่างชายและหญิง ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือการแต่งงานระหว่างบุคคลทั้งสอง โดยได้จดทะเบียนสมรสตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือใช้ชีวิตคู่สามีภรรยาอย่างเปิดเผย
“สินสอด” ภายหลังส่งมอบกับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูของหญิง จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ผู้รับมอบ คือพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ดูแลหญิง ไม่ว่าชายจะทำการสมรสกับหญิงนั้นหรือไม่ก็ตาม
ถ้าการสมรสตามวัตถุประสงค์หลักของการส่งมอบ สินสอดและทองหมั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความผิดหรือการกระทำของหญิง หรือเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้ชายไม่อาจจะแต่งงานหรือไม่สามารถแต่งงานกับหญิงนั้น ชายสามารถเรียกคืนสินสอดทั้งหมดจากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูผู้รับมอบสินสอดนั้นทั้งหมด คืนได้
เช่นเดียวกับ “ของหมั้น” ที่ได้ให้ไว้กับหญิง
แต่ถ้าเหตุลักษณะนี้ เกิดเพราะความผิดหรือการกระทำของชาย พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเสมือนพ่อแม่ของหญิง และหญิงนั้น ไม่จำต้องคืน “สินสอด” และ “ทองหมั้น” แต่อย่างใด
ประเด็นน่าสนใจ ปัจจุบัน สังคมโลกก่อเกิดเพศที่สาม หรือกลุ่ม LGBTQ ได้แก่ Lesbian หญิงรักหญิง Gay ผู้ชายรักผู้ชาย Bisexual ตนเองรักทั้งชายและหญิง Transgender รักข้ามเพศ คือกำเนิดเพศหญิงแต่เปลี่ยนแปลงเป็นเพศชาย หรือตนเองเพศชายแต่เปลี่ยนแปลงเป็นเพศหญิง
กลุ่ม LGBTQ ได้รับการยอมรับมากขึ้น และดังเห็นปรากฏข่าว บุคคลกลุ่มนี้ หมั้นหมาย และจัดประเพณีแต่งงานเหมือนกับผู้ชายและผู้หญิงกระทำตามประเพณีดังเดิม
สงสัยกันไหมว่า การหมั้นหมาย สู่ขอของกลุ่ม LGBTQ สินสอด ทองหมั้นจะมีผลตามกฎหมายเหมือนกับความรักของผู้หญิง ผู้ชายตามธรรมชาติหรือไม่ ?
พิจารณาตามตัวบทกฎหมาย บัญญัติชัดเจนว่า สินสอด ทองหมั้น กำหนดระหว่าง “หญิง” กับ “ชาย” เท่านั้น
ดังนั้น การหมั้นหมายและแต่งงานกลุ่ม LGBTQ แม้จะมี “สินสอด” หรือ “ทองหมั้น” แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ทรัพย์สินดังกล่าว ถือเป็นการ “ให้โดยเสน่หา” เท่านั้น